โรคเบาหวานมีกี่ประเภท ?
โรคเบาหวาน
หลาย ๆ คนมักเข้าใจว่าโรคเบาหวานนั้นมีเพียง 2 ชนิด แต่ตอนนี้คณะนักวิจัยจากสวีเดนและฟินแลนด์พบว่า โรคเบาหวานซึ่งคนจำนวนมากเป็นกันอยู่นั้น ไม่ได้มีเพียง 2 ชนิดตามที่เคยเข้าใจกันมา แต่สามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มอาการย่อยที่แตกต่างกันไปได้อีก ทำให้โรคเบาหวานในปัจจุบันมีถึง 5 ชนิด ซึ่งแต่ละชนิดจะมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกันคณะนักวิจัยจากศูนย์โรคเบาหวานมหาวิทยาลัยลุนด์ของสวีเดน และสถาบันเพื่อการแพทย์ระดับโมเลกุลของฟินแลนด์ ได้วิเคราะห์ตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยเบาหวาน 14,775 คนในแถบสแกนดิเนเวีย และพบว่าสามารถแบ่งกลุ่มผู้ป่วยตามอาการที่เป็นอยู่รวมทั้งลักษณะทางเคมีในเลือดได้อย่างน้อย 5 กลุ่ม ซึ่งมีความซับซ้อนกว่าการแบ่งผู้ป่วยโรคเบาหวานออกเป็นชนิดที่ 1 ซึ่งแพ้ภูมิคุ้มกันตนเอง และชนิดที่ 2 ซึ่งเป็นเบาหวานเพราะความอ้วน แบบที่ทำกันมาแต่เดิมอย่างมาก และมีการตีพิมพ์ผลการศึกษาดังกล่าวในวารสารการแพทย์ Lancet Diabetes and Endocrinology โดยระบุถึงโรคเบาหวาน 5 ชนิดไว้ดังนี้
ชนิดที่ 1
เป็นโรคเบาหวานที่เกิดจากการแพ้ภูมิคุ้มกันในร่างกายตนเองอย่างรุนแรง ผู้ป่วยมักเริ่มมีอาการตั้งแต่อายุยังน้อย แต่การที่ภูมิคุ้มกันโจมตีตนเองทำให้เบตาเซลล์ในตับอ่อนถูกทำลายและไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วโรคเบาหวานชนิดนี้คล้ายกับโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ตามแบบดั้งเดิมชนิดที่ 2
เป็นโรคเบาหวานที่เกิดจากร่างกายขาดอินซูลินอย่างรุนแรง ผู้ป่วยมักเริ่มมีอาการตั้งแต่อายุยังน้อยคล้ายกับผู้ป่วยกลุ่มแรก แม้จะมีน้ำหนักตัวปกติและไม่เป็นโรคแพ้ภูมิคุ้มกันในร่างกายตนเองก็ตามชนิดที่ 3
ผู้ป่วยจะมีความต้านทานอินซูลินสูงเนื่องจากมีน้ำหนักเกิน แม้ร่างกายจะยังผลิตอินซูลินอยู่แต่ไม่ตอบสนองต่ออินซูลินที่หลั่งออกมาอีกต่อไปชนิดที่ 4
เป็นโรคเบาหวานแบบไม่รุนแรง แต่มีผลเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับโรคอ้วน ผู้ป่วยมักจะมีน้ำหนักตัวเกินอย่างมาก แต่การทำงานของระบบเผาผลาญนั้นใกล้เคียงกับคนปกติมากกว่าผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 3ชนิดที่ 5
เป็นโรคเบาหวานแบบไม่รุนแรงซึ่งเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับความชรา ผู้ป่วยมักเริ่มมีอาการเมื่อมีอายุมากแล้ว แต่ไม่ร้ายแรงนักเมื่อเทียบกับผู้ป่วยกลุ่มอื่น ๆผู้ป่วยโรคเบาหวาน (Diabetes) ต้องคอยควบคุมระดับน้ำตาลในร่างกาย ในบางกรณีต้องฉีดอินซูลิน
การแบ่งประเภทของโรคเบาหวานเสียใหม่นี้ ช่วยให้ความกระจ่างมากขึ้นในการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 แบบดั้งเดิม ซึ่งที่จริงแล้วผู้ป่วยแต่ละคนในกลุ่มนี้มีสาเหตุของโรคและอาการแตกต่างกันออกไป โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นผู้มีน้ำหนักเกินเพราะการใช้ชีวิตที่ไม่ถูกต้องหรือเป็นโรคอ้วนมาก่อน
คณะวิจัยชี้ว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ตามเกณฑ์ใหม่ ควรได้รับการรักษาแบบเดียวกับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 มากกว่า เพราะมีความบกพร่องของเบตาเซลล์เหมือนกัน และไม่ได้เป็นโรคเบาหวานเพราะไขมันที่สะสมในร่างกายทำให้เกิดการต้านทานอินซูลินแต่อย่างใดนอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ตามเกณฑ์ใหม่ ยังมีความเสี่ยงที่จะตาบอดสูงกว่ากลุ่มอื่น ในขณะที่ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 3 ก็เสี่ยงจะเป็นโรคไตสูงกว่าด้วยเช่นกัน ทำให้การแยกแยะชนิดของเบาหวานใหม่นี้เป็นประโยชน์ต่อการตรวจคัดกรองโรคที่ผู้ป่วยแต่ละกลุ่มมีความเสี่ยงไม่เหมือนกันด้วย อย่างไรก็ตาม แพทย์หญิงวิกตอเรีย ซาเลม นักวิจัยและที่ปรึกษาของอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน (ไอซีแอล) บอกว่าการแยกชนิดของเบาหวานเสียใหม่ครั้งนี้เป็นก้าวแรกสำหรับการศึกษาต่อไปในกลุ่มประชากรที่กว้างขวางหลากหลายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มชาวเอเชียใต้ ซึ่งน่าจะทำให้พบชนิดย่อยของโรคเบาหวานเพิ่มเติมได้อีกถึงกว่า 500 ชนิด แต่การปรับวิธีรักษาตามเกณฑ์แบ่งกลุ่มโรคเบาหวานใหม่นี้ น่าจะยังไม่เกิดขึ้นจนกว่าจะมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไปเสียก่อน
Tip : ถึงแม้เราจะดูแลสุขภาพของเราดีแค่ไหนก็ตาม แต่ก็ไม่มีอะไรการันตีความปลอดภัยของชีวิตไม่ว่าจะเป็นโรคร้ายหรือ อุบัติเหตุก็ตาม ดีกว่ามั้ยถ้าเราเลือกที่จะหาตัวช่วยอย่าง ประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุ หรือประกันสุขภาพ เพื่อเป็นหลักประกันให้เรา เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้นมาจริงๆเพราะเดี๋ยวนี้ประกันก็ไม่มีราคาแพงเลือกตามที่เราจ่ายไหว และตอบโจทย์ชีวิตเรา
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น